KAKA Engineering, we're driving the future
  • Home
  • Knowledge
  • Inspection
  • Boiler/ Vessel
  • Hydrotest/Safety valve
  • Contact Us
  • ENG version
  • ASME
  • Boiler Room

Hydrostatic Test

7/6/2010

12 Comments

 
          Hydro คือน้ำ Static คืออยู่กับที่/อยู่นิ่ง Test คือการทดสอบ ดังนั้นเรานำมารวมกัน เป็น Hydrostatic Test คือ การทดสอบด้วยแรงดันน้ำ หรือ การอัดน้ำทดสอบนั่นเอง โดยทั่วไปเรามักพบการทดสอบ Hydrostatic Test ใน ถัง ท่อ ภาชนะรับแรงดัน เช่น Boiler/ Pressure vessel/ Piping/ ถังรับแรงดันทั่วไป/ ถังเก็บและ บรรจุก๊าซ/ ถังแอมโมเนีย/ ถังก๊าซLPG/ ถังNGV หรือ ถังรับแรงดันทุกประเภทว่าอย่างนั้น
Picture
ทดสอบที่ความดันเท่าไหร่ ถึงจะเรียกว่า ทดสอบ Hydrostatic Test

          โดยทั่วไป หากมีกฎ หรือ Code ในลักษณะงานนั้นๆ เราจะยึด กฎ หรือ Code ตัวนี้เป็นหลัก ในเรื่องของความดันทดสอบ เช่น หากทดสอบถังรับแรงดัน โดยที่ถังนั้นออกแบบ และสร้างตาม Code ของเพื่อนชาวอเมริกา ASME section VIII, div 1 เราก็ต้องปฏิบัติงาน การทดสอบที่ตาม Code นั้นกำหนด ซึ่งตรงนี้ ตัว Code จะกำหนดไว้ชัดเจน ว่าเราจะทำการอัดน้ำที่เท่าไหร่ นั่นเอง เช่น 1.3เท่า ของความดันออกแบบ/ หรือ 1.5 เท่าของแรงดันออกแบบ เป็นต้น และหากเป็น Boiler หรือ Pressure Vessel ที่ควบคุม หรือ มีกฎหมายควบคุม เช่น พรบ.โรงงาน กำหนด (อาจสามารถเรียกได้ว่าเป็น กฎหมายลูก ก็ไม่ผิด) เราก็ต้องทำการทดสอบครับ ตรงนี้มีกำหนดไว้ชัดเจน ทดสอบ แล้วรับรองการทดสอบ รับรองไปเพื่อ....ถังใบนี้นะ serial no. นี้นะ ได้ผ่านการทดสอบ การอัดแรงดัน ที่ความดัน XXเท่าของความดันออกแบบ สามารถใช้งานได้ต่อไป ด้วยความปลอดภัย(สรุป เป็นภาษาพูดคือ ถังใช้งานได้ต่อไปว่าอย่างนั้น/ ไม่ต้องห่วงว่าจะรองรับแรงดัน ได้หรือไม่/ ไม่ระเบิด ว่าอย่างนั้น) และในการตรวจสอบ ท่านควรที่จะ ให้ดำเนินการตรวจสอบภาชนะรับแรงดันตามหลักสากลและทำตรวจสอบโดยวิศวกรที่ได้รับอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรครับ

          หากไม่มี Code หรือ กฎหมายกำหนดในงานนั้นๆล่ะ ทำอย่างไร....คำตอบคือ ให้ใช้ Engineering practice คำตอบเดียวเลย คือ หากไม่มี Nameplate ระบุ/ หากไม่มีกฎหมายกำหนด/ ไม่มี Code รองรับ ว่าทำการทดสอบที่ความดันเท่าไหร่ โดยทั่วไปจะยึดกันที่ 1.5 เท่าของความดันออกแบบ เป็นหลัก หากไม่รู้ความดันออกแบบอีก ก็ 1.5 เท่าของความดันใช้งานเป็นกรณีสุดท้ายครับ ส่วนเรื่องของจะ Hold ทิ้งไว้เท่าไหร่ ตั้งทิ้งไว้เท่าไหร่ 1 ชั่วโมง/ ครึ่ง ชั่วโมง/ 1 วัน / 3 วัน........ตรงนี้ก็ต้องอ้างอิง กฎ หรือ Code เป็นหลักนะครับ ไม่ใช่ว่า พอเราขึ้นแรงดันได้ปุ๊บ เดินดูๆ รอยเชื่อม/ หน้าแปลน/ วาลว์/ อุปกรณ์ Fitting เดินดูรอบเดียว พอเห็นไม่รั่ว ไม่ซึม แล้ว ก็ลงแรงดันได้ แบบนี้ไม่ดีแน่ ทางที่ดีที่สุดคือ ทำตามขั้นตอนที่ Code หรือ กฎที่เค้าออกแบบมาแล้วครับ ดีที่สุด ตัวอย่างนะครับ

ASME Pressure Vessel Code ระบุ 30 นาที เป็นอย่างน้อย

ASME/ANSI B31.3 Chemical Plant and Petroleum Refinery Piping ระบุ 10 นาที เป็นอย่างน้อย

ASME/ANSI 31.8 Piping for Gas Transmission ระบุ 2 ชั่วโมง เป็นอย่างน้อย......พอสังเขปนะครับ


ข้อควรระวังในการทำการทดสอบ

          กรณีทำการทดสอบที่แรงดันสูงๆ ทั้งการขึ้นแรงดัน และการลดแรงดัน ควรทำการทดสอบ แบบเป็น step หรือขั้นบันไดในการทดสอบ ไม่ควรขึ้นรวดเดียว ม้วนเดียวจบเลย เช่น ขึ้นที่จากแรงดัน 1 bar รวดเดียวไปที่ 30 bar เลย ภายใน 2 นาที อะไรแบบนี้ครับ......เพราะ มันอันตรายครับ อันตรายกับ ตัวบุคคลที่ทำการทดสอบ บุคคลที่อยู่บริเวณทดสอบ บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง(ไทยมุง) เพราะสามารถมีชิ้นส่วนต่างๆ ที่หลุด/ ปริ/ แตก ออกมาทำความเสียหาย ได้โดยที่เราไม่ทันคาดคิด รวมถึงอันอาจเกิด ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Shock load ในตัววัสดุที่ทำการทดสอบเอง อันสามารถเป็นผลให้สูญเสียความสามารถในทางกลไปได้ในบางส่วนครับ ดังนั้นในการขึ้นแรงดัน/ ลงแรงดัน ให้ทำการทดสอบ เป็นขั้นบันได ได้จะดีที่สุดครับ เช่น จากความดันปกติ—ไต่ระดับไปที่ความดันใช้งานก่อน —จากความดันใช้งาน ทิ้งไว้ซักครู่---ไต่ระดับไปที่ ความดันออกแบบ---จากความดันออกแบบ --- ไต่ระดับไปที่ความดันทดสอบ พอถึงแรงดันทดสอบนี่ล่ะครับ เราถึงทำการจับเวลา/ Hold point เริ่มที่ตรงจุดนี้ + เดินดู เดินตรวจสอบ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อความมั่นใจครับ.............หลังจากที่ทดสอบแล้ว การลดแรงดันลงมา กลับสู่สภาวะปกติ ก็เช่นเดียวกันครับ เป็นลำดับเหมือนกัน ซึ่งหากผ่านการทดสอบแล้ว ผู้ประกอบการ เจ้าของโรงงาน เจ้าของกิจการ ลูกมือ/พนักงาน ก็ปฏิบัติงานได้อย่างมั่นใจครับ

 

          แบบไหนเรียกแรงดันสูง ลองมาดูกัน ผมจะเรียงลำดับจากน้อยไปมาก ยึดที่ความดันใช้งานปกติในถัง เป็นหลัก


ความดันบรรยากาศ หรือความดันอากาศที่มนุษย์เราอยู่ปัจจุบัน  14.7 PSI หรือ ประมาณ 0 bar

ความดันที่มือมนุษย์ สามารถกด หรืออุดได้ อยู่ที่ 20-25 PSI หรือ ประมาณ 1.3-1.7 bar

ความดันลมยาง VIGO ประมาณ 40-45 PSI หรือ ประมาณ 2.7-3.1 bar (เคยเห็นอุบติเหตุ จากการที่รถยางระเบิด แล้วเสียหลักพลิกคว่ำ กันนะครับ แล้วลองเทียบดู ความดัน เริ่มอันตรายแล้วนะครับ)

ความดันในถังก๊าซ LPG ทั้งถังบ้าน(ที่เราทอดไข่เจียว)/ ถังรถยนต์ ประมาณ 90-110 PSI หรือ ประมาณ 6.2-7.5 bar

ความดันในถังดับเพลิงแบบผงเคมีแห้ง ประมาณ 175-180 PSI หรือ ประมาณ 12 bar

ความดันถังแอมโมเนีย ประมาณ 250 PSI หรือ ประมาณ 17.2 bar

ความดันถังไนโตรเจน/สภานะก๊าซ (ที่เราเห็นกันในงานอุตสาหกรรม) ประมาณ 2000 PSI หรือ 137 bar

ความดันในถังก๊าซ NGV ประมาณ 3000 PSI หรือ ประมาณ 206 bar


          ลองพิจารณา ดูถึงความอันตรายนะครับ และแน่นอนว่า ความดันที่เพิ่มขึ้น มีผลต่อความหนาของภาชนะที่บรรจุความดันเหล่านั้นด้วย เดี๋ยวภาคหน้า ขอมาต่อกันด้วยเรื่อง ของการวัดความหนา ถังรับแรงดัน หรือที่เรา ฮิตเรียกกันติดปากว่าUTM(Ultrasonic Thickness Measurement) นั่นเองครับ
12 Comments

ศัพท์ Welding ผู้รับเหมา แปลกๆ

4/6/2010

11 Comments

 
          ทางทีมงานขอเสนอ คำศัพท์ ทางด้านงานเชื่อม ที่เรามักจะเจอ หรือมักจะพบ ในลักษณะของผู้รับเหมาพูดกัน เป็นคำฮิด ติดปาก ที่พบกันบ่อยๆครับ หากท่านใด มีศัพท์ทางเทคนิค แปลกๆ ศัพท์เฉพาะทางที่ใช้เรียก ก็ยินดีนำเสนอ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กันครับ

Picture
ดีบี หรือ DB      

         
เรามักคุ้น ศัพท์นี้จากงานเชื่อม ท่อ หรือ เชื่อม pipe ครับ ซึ่งคำว่า ดีบี หรือ DB ย่อมาจาก Diameter Bore ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางนั่นเอง หากแต่เทียบขนาดแล้วตัวเลขจะไม่ลงตัวนะครับ เช่นท่อขนาด 1นิ้ว OD ไม่ใช่ 1นิ้วเป๊ะๆ หรือ ท่อ 3 นิ้ว ขนาดก็ไม่ใช่ OD 3 นิ้วเป๊ะๆ แต่ที่เราเรียกขนาดท่อกัน นี่คือ Norminal pipe size หรือ NPS นั่นเอง (ลองดู File ที่ใช้กันบ่อยๆครับ ใน KAKA Support) มีให้โหลดตรงนี้อยู่ เกี่ยวกับขนาดท่อ


          แล้วเราจะเจอ หรือ เราจะใช้เมื่อไหร่ เจ้าดีบี เนี่ย คำตอบคือ ส่วนใหญ่ เราจะใช้กันในการคิดราคา/เสนอราคางานเชื่อม/ ประมาณราคา/ ประมาณปริมาณงานเชื่อมในโปรเจคนั้นๆครับ  ที่เราพบกันส่วนใหญ่เลยนะครับ เช่นโปรเจคนี้ เท่าที่ประมาณดู ไม่ต่ำกว่า 10,000 ดีบี หรือ เช่น ลองนับจำนวน joint ดูตามแบบ แล้ว ผู้รับเหมาคิดออกมาได้ที่ 250 ดีบี เป็นต้น ซึ่งการคิดตรงนี้นั้น เรามักจะทำเป็น Estimate Cost ของราคางานไปครับ เพื่อ Engineering หรือ Contractor หรือ Sub contractor จะได้ เตรีมงานถูก ใช้ช่างเชื่อมกี่คน/ ช่างประกอบกี่คน/ helper กี่คน รถเครนต้องใช้มั้ย รถเฮี้ยบต้องใช้มั้ย Fab ใน shop หรือที่หน้างาน ท่อเป็นอะไร เป็นเหล็ก เป็นสเตนเลส หรือเป็นวัสดุAlloy ต้อง purge แกสมั้ย......bla bla bla……ตรงนั้นต้องนำมาเป็นปัจจัย เพื่อคิด Cost ในงานเชื่อมอีกครั้งหนึ่งครับ

          ทีนี้มาถึง วิธี การคิดหา ดีบี ว่าคิดยังไง คำตอบคือ ไม่ต้องไปคิดมากครับ อ้างอิง หรือ เราก็ยึดที่แบบ(Drawing)เป็นหลักเลย หลักที่ว่า ก็ ท่อ 1 นิ้ว หรือ pipe 1 นิ้ว ก็คิดเป็น 1 ดีบี ลักษณะเดียวกัน หากเป็นท่อ 3 นิ้ว หรือ pipe 3 นิ้ว เอามาเชื่อมต่อกันที่ 1 joint ดังนั้น joint นั้น ก็เป็น 3 ดีบี.....เกิด Line นั้น(อ้างอิงจากแบบISO หรือ as built ก็ไม่ผิดกติกา) มี 10 joints เรียงกันล่ะตามแบบน่ะ แน่นอนว่า 10x3นิ้ว ก็เป็น 30 ดีบี ใน Line นั้นๆ หรือในแบบ มีท่อ 2 นิ้วอยู่ 200 joints ท่อ 3 นิ้วอยู่ 150 joints แบบนี้ ก็เป็น (2 x 200) + (3 x 150) = 850 DB เป็นต้นครับ

          จะเห็นได้ว่า ดีบี ของงานเชื่อม....การคิดราคา เราก็จะอ้างอิง จาก
Volume หรือ ปริมาณงานเป็นหลัก ที่ทางผู้รับเหมา หรือทางเจ้าของงาน อาจจะมีเรทราคางานต่อ ดีบี ไว้ในใจแล้ว ซึ่งรายละเอียดลึกๆตรงนั้นต้องพิจารณา ตัวแปรอย่างอื่นอีกครับ ราคาที่เสนอ อาจจะเป็นล่ำซำ (lump sum) รวมหมดเลยทั้งประกอบ และเชื่อมด้วย หรือ ราคาแยก ประกอบ(Fit up) ราคาหนึ่ง แล้วก็เชื่อม(welding) อีกราคาหนึ่ง เป็นต้นครับ

Picture
เทสต์สี หรือ Test สี       

         
ก็คือการทำ PT หรือว่า Liquid Penetrant Testing นั่นเองครับ แต่ศัพท์อย่างไม่เป็นทางการ (จะเรียกว่าเป็น Local wording หรือ แบบบ้านๆดีครับ) ก็มักจะฮิต ติดปากกันครับ ว่า Testสี นะ งานนี้ สาเหตุ/ที่มาที่ไป ก็คงจะมาจาก การทำ PT หรือ Penetrant Test มันมีสีตกค้าง ภายหลังการทำ นั่นเองครับ เราเลยมักจะเห็น การเรียกติดปากในลักษณะนี้ว่า Test สี กันครับ

          แล้วเอาสีออกได้มั้ย ตอน
Test สี เสร็จเรียบร้อยแล้ว.....เคยมีผู้รับเหมา ถามผมอยู่เหมือนกันครับ คำตอบคือ ได้สิครับ ทำไมจะไม่ได้ล่ะครับ ถ้าท่านทำการทดสอบ หรือว่า Test สี เสร็จแล้วเนี่ย ทางผู้ตรวจสอบ หรือทีมงานตรวจสอบ พิจารณาแล้ว Accept กับแนวเชื่อมนั้นๆ ก็ผ่านการทดสอบแล้วครับ จะลบ/จะล้าง/จะเช็ด สีที่ยังคงอยู่ก็สามารถทำได้ครับ ไม่ผิดกติกาแต่ประการใด เพราะว่าผ่าน หรือ Accept แนวเชื่อมนั้นแล้ว ถูกต้องมั้ยครับ แต่ถ้า ทดสอบ หรือ Test สี แล้ว ไม่ผ่านล่ะ.....แน่นอนว่าต้องทำการซ่อมแซม หรือ Repair ตรงจุดนั้นๆ ที่ไม่ผ่านนั่นเองครับ แต่ส่วนใหญ่ที่เราเห็น มักจะไม่ลบ/ไม่ล้าง/ไม่เช็ด ออกก็เพราะว่า เผื่อลืม/เผื่อหลง ว่าแนวเชื่อม แนวนี้ Test ไปหรือยัง  เท่านี้เองครับ

Picture
ยิงผี 

          
ยิงผีเป็นคำฮิตติดปากเรียกกันครับ ผี คือสิ่งที่ไม่มีตัวตน คือ การถ่ายภาพด้วยรังสี(Radio graphic Testing) หรือ ว่า X-ray แนวเชื่อมที่มันไม่มีตัวตนนั่นเอง นั่นก็คือ ภาพถ่ายแนวเชื่อมนั้นๆที่ปรากฏอยู่บนฟิลม์ ไม่ใช่ภาพถ่ายของ joint นั้นจริงๆ หรือเป็นฟิลม์ ที่มาจากไหนก็ไม่รู้ แต่ mark no. ของฟิลม์ เป็น mark no. ที่ตรงตามแบบนั่นเอง

          กรณีที่สามารถเจอได้ ของผี ก็คือ งานไม่ทันแล้ว Inspection ตามเก็บไม่ทัน/ หรืองานติดฟิลม์ยาก ติดฟิลม์ลำบาก เช่น บน pipe rack สูงๆ กว่าจะได้แต่ละ joint มันนานว่างั้น หรือ งานถังน้ำมัน ชั้นบนๆ course 5/ course 6 แบบนั้นเป็นต้น หรือสามารถเกิดได้กรณีงานเยอะๆ แล้วเกิดสลับ Joint no. เช่นงาน pipe line ที่ยาวๆ ต้องมาตามเก็บ films กันทีหลัง ก็สามารถเป็นผีได้เหมือนกันครับ 

          แล้วจะรู้ได้ไงครับ ผี/ ไม่ผี ตอบยาก......มาก ครับ ต้องมานั่งดูฟิลม์เป็นวิธีเดียวเลย ความเคยชินเป็นหลัก แนวนี้ผ่านตามาแล้ว มีสะเก็ดไฟตรงจุดนี้ มีรอยขีดตรงจุดนี้ ดูไปซัก 20 ฟิลม์ ชักเบลอๆ ยิ่งถ้าเพ่งมากๆ วันหนึ่งซัก 100 ฟิลม์ นี่ต้องออกมาสูดอากาศ บริสุทธิ์กันบ้างครับ จะได้ไม่เบลอ กับอีกวิธีหนึ่ง คือประเมิณงานตรวจสอบในลักษณะนั้นๆได้ เช่น ประเมิณความแรงของต้นกำเนิดรังสีได้ ยกตัวอย่าง 50 คูรี ของ Ir-192 เป็นแหล่งกำเนิด เอาไปถ่ายภาพรังสี เทียบกับ 15 คูรี ของ Ir-192 เหมือนกัน แน่นอนว่า ความแรงรังสี 50 คูรี ย่อมใช้เวลาถ่ายภาพที่เร็วกว่าแน่นอนครับ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องประเมิณเวลา การจัดเตรียมเทคนิคการถ่ายเอาไว้ด้วย กว่าจะติดฟิลม์ กว่าจะถ่ายภาพ กว่าจะเปลี่ยน Joint ต้องเผื่อเวลาไว้ด้วยครับ Joint นี้ อยู่บน pipe rack หรือ อยู่บน ถังด้านบนๆ(Course บนๆ) กว่าจะปีนขึ้น/ปีนลง ติดฟิลม์/แปะฟิลม์ ฝนตก/ไม่ตก หรือเตรียมงาน บางทีกินเวลามากกว่า เวลาที่ใช้ถ่ายถาพด้วยรังสีเสียอีกครับ ซึ่งตรงนี้หลายปัจจัยที่นำมาประมาณการณ์

11 Comments

ศัพท์ ภาษาอังกฤษ วิชาชีพ วิศวกรรมควบคุม

3/6/2010

6 Comments

 
          ข้อมูลต่างๆที่เป็นศัพท์ภาษาอังกฤษนี้ ทางสภาวิศวกร ได้จัดทำขึ้นมา โดยอ้างอิงจาก พรบ.วิศวกร เพื่อไม่ให้เป็นการสับสน หรือการใช้ทับศัพท์ เพิ่มเข้ามา เช่น สก.XXXX หลายท่านคงพบว่า เรามักจะใช้ ทับศัพท์เป็น Sor Kor. XXXX ซึ่งเป็นการใช้คำที่ผิดนะครับ ทางสภาวิศวกรได้เล็งเห็นตรงส่วนนี้เพื่อที่จะจัดทำให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และพร้อมที่จะ ประกาศลงร่างในส่วนของ กฤษฎีกาครับ
ศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับสภาวิศวกรมี ดังนี้

สภาวิศวกร = Council of Engineers        
พระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 = Engineering Act B.E.1999
                                                 
คณะกรรมการสภาวิศวกร
=Council board
                                                                                    
กรรมการสภาวิศวกร
= Council board member                                                                   
คณะอนุกรรมการสภาวิศวกร
= Subcommittee
                                                                        
คณะกรรมการจรรยาบรรณ
= Etiquette Committee
                                                                         
ข้อบังคับสภาวิศวกรว่าด้วย
….. = Regulation of the Council of Engineer on …..


ศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับสมาชิก และใบอนุญาต มีดังนี้


สมาชิก = Member                                                                                                                     
สมาชิกสามัญ = Ordinary Member
                                                                                              
สมาชิกวิสามัญ = Extraordinary Member
                                                                                      
สมาชิกกิตติมศักดิ์ = Honorary Member
                                                                                                 
ใบอนุญาต = License
ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม = License for Professional Practice
                          
ใบอนุญาตนิติบุคคล = License for Juristic person 
                                                                                                   
การพักใบอนุญาต = Suspension of License 
                                                                                                         
การเพิกถอนใบอนุญาต = Revocation of License                                                                          
                             
การต่ออายุใบอนุญาต = Renewal of License 
                                                                                                                
ใบแทนใบอนุญาต = Replacing License 


ศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับระดับของวิศวกร มีดังนี้


ภาคีวิศวกร = Associate Engineer                                                                                                        
สามัญวิศวกร
= Professional Engineer
                                                                                              
วุฒิวิศวกร = Senior Professional Engineer                                                                                       
 
ภาคีวิศวกรพิเศษ
= Adjunct Engineer


          ทีนี้ถ้าท่านเป็น ภาคีวิศวกรโยธา ศัพท์ภาษาอังกฤษ ที่ถูกต้องคือ Associate Civil Engineer เช่นเดียวกัน หากเป็น สาขาเครื่องกล ท่านก็เติม Mechanical ลงไปตรงตัวกลาง ในระดับนั้นๆ(ภาคี/ สามัญ/ วุฒิ) ตามด้วยหมายเลข ใบอนุญาต ก็เป็นอันครบถ้วนครับ หากมีศัพท์เพิ่มเติมจากทางสภาวิศวกร เราก็จะแจ้งเพิ่มเติมให้ทราบครับ
Natthapong Chaiyasit

Professional Mechanical Engineer (License ID. 3289)

087-7000-121

E-mail: [email protected]
6 Comments

การเลื่อนระดับ วิศวกร

3/6/2010

82 Comments

 
Q.จากภาคีวิศวกร เพื่อเลื่อนระดับเป็น สามัญวิศวกร ทำอย่างไร

A.จากภาคีวิศวกร (ในสาขาที่ท่านทำงานอยู่นั้น) นับตั้งแต่วันที่ ได้รับใบอนุญาต ประกอบวิชาชีพ วิศวกรรมควบคุม.....ท่านต้องนับไปอย่างน้อย 3 ปี นับจากวันที่ใบอนุญาต ออกให้ ถึงสามารถมีสิทธิ ขอยื่นผลงานประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ในสาขานั้นๆได้ โดยที่มีผู้รับรองผลงานประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมในสาขานั้นๆรับรองผลงานท่าน หรือ ลงนามเซ็นต์กำกับ


Q.ทำไมต้อง 3 ปี

A.3 ปี เป็นอย่างน้อย จะเป็นเวลา 4 ปี/ 5ปี/ 10ปี ก็ได้ครับ ไม่จำกัด แต่โดยหลักการและเหตุผลแล้ว ระยะเวลาการทำงานในช่วง 3 ปี กับวิชาชีพ วิศวกรรมควบคุม ผมก็เห็นด้วยในหลักการ และเหตุผล กล่าวคือ ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ทำให้ ภาคีวิศวกรน้องใหม่ ได้เข้ามาอยู่ใน Field ได้เห็นหลักการทั้งทางทฤษฎี และ ภาคปฏิบัติ (หน้างาน/ siteงานจริง) เพื่อประยุกต์หรือ นำความรู้ในเชิงวิศวกรรมควบคุมมาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด


       ผลงานที่ขอยื่น มีอะไรบ้าง....ผลงานทางด้านวิชาชีพ วิศวกรรมควบคุมครับ ท่านสามารถ Dowload ได้จาก เวบไซท์ของทาง สภาวิศวกร หรือ Http://www.coe.or.th ได้เลย หรือ หากเป็นสาขา วิศวกรรมเครื่องกล สามารถ Download ได้ที่ KAKA Support ได้เลย ในหัวข้อของ ขอบเขต วิศวกรรมเครื่องกล.pdf ขอยกตัวอย่างลักษณะงาน ที่ยื่นผลงาน อาทิ เช่น

                        - งานควบคุมการติดตั้ง
Boiler ขนาด 5 ตัน/ชั่วโมง จำนวน 2 ลูก ที่ โรงงาน XXX……. จังหวัด XXX…….ภายใต้ การควบคุมงาน
                          ของสามัญวิศวกรเครื่องกล สก.
XXXX 


                        - งานพิจารณาตรวจสอบ ภาชนะรับแรงดัน ด้วยวิธี Hydrostatic test ของถังลม ขนาดความจุ XXX ลิตร ที่ความดันทดสอบ XXX PSI (xxx bar)   
                          จำนวน 10 ลูก
ที่โรงงาน XXX….. จังหวัด XXX……ภายใต้การควบคุมงานของสามัญวิศวกรเครื่องกล สก.XXXX


                        -งานควบคุมการติดตั้ง ระบบบำบัดน้ำเสีย โครงการ XXXX ขนาดระบบสูบน้ำ XXX ลิตร/นาที( หรือ ลูกบาศก์เมตร ต่อ นาที แล้วแต่) 
                          ที่ความดันปั้มน้ำขนาด
Dia. XXX เมตร แรงดัน XXX PSI(xxx bar)
ภายใต้การควบคุมงานของสามัญวิศวกรเครื่องกล สก.XXXX


                        - งานวางโครงการระบบทำความเย็น ของ ห้าง Big-C/Tesco Lotus/ Central world…หรือ bla bla bla…. สถานที่ตั้ง จังหวัด XXX 
                          ขนาดเครื่องทำความเย็น XXX กิโลวัตต์/ หรือ xxx BTU
ภายใต้การควบคุมงานของสามัญวิศวกรเครื่องกล สก.XXXX


                        - งานติดตั้ง ระบบท่อน้ำ/ ท่อน้ำมัน/ ท่อดับเพลิงอาคาร ของ XXX(สถานที่) ขนาดแรงดัน XXX PSI(xxx bar) จำนวน xxx ระบบ 
                         
ภายใต้การควบคุมงานของสามัญวิศวกรเครื่องกล สก.
XXXX
 

       พอได้แนวทางการเขียนผลงานประกอบวิชาชีพ วิศวกรรมควบคุม เพื่อเตรียมยื่นเลื่อนระดับกันแล้ว(ขอยกตัวอย่างในสาขาเครื่องกล โดยสาขาอื่น ท่านสามารถดูได้จาก เวบไซท์ของสภาวิศวกรครับ) โดยหลักการ และเหตุผล จะเป็นไปในแนวทาง ของ ขอบเขต วิศวกรรมเครื่องกล ดังที่สภาวิศวกรกำหนดเอาไว้ คือ ลักษณะงานจะต้องมีความรับผิดชอบในตัวงาน/ งานมีความเสี่ยงที่อาจเกิดข้อผิดพลาดขึ้น/ หรือ งานอันตราย เกี่ยวข้องกับ ความดัน อุณหภูมิ ลักษณะนั้นเป็นต้น จะต้องเข้าข่าย ของงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ซึ่งจะเห็นว่าเป็นลักษณะของงานภาคสนามเสียส่วนใหญ่


Q.ทำไม ในผลงานทีเรายื่น ต้องลงไปว่า ภายใต้การควบคุมงานของสามัญวิศวกรเครื่องกล สก.XXXX


A. ก็เพราะว่า สามัญวิศวกรเครื่องกล สก.xxxx ที่เป็นคนควบคุมงานของท่านนี่ล่ะครับ เป็นคนเซ็นต์รับรองผลงานของท่านอีกทีหนึ่ง ว่าท่าน ภก.xxxx ท่านนี้นะ ได้ทำงานวิศวกรรมควบคุมจริงๆ ทำงานนี้ งานนั้น งานโน่น ที่เป็นงานวิศวกรรมควบคุมโดยมี สก.xxxx รับรองอีกครั้งหนึ่ง หรือ จะเป็นวุฒิวิศวกร หรือ วก.xxxx รับรอง ก็ไม่ผิดกติกา แต่ประการใดครับ ในแวดวงวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม เราเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นpartner เป็น joint venture กันเป็นส่วนใหญ่ครับ ท่าน สก.ท่านนี้ชำนาญเรื่อง ระบบท่อ/piping แต่ไม่ชำนาญเรื่องระบบทำความเย็น หากมีงานทางด้าน ระบบทำความเย็น ก็แนะนำให้ไปหา ท่าน วก.ท่านนี้ที่ชำนาญระบบทำความเย็น เป็นต้นครับ

Q. จำนวนผลงานล่ะครับ หรือ ปริมาณงานเท่าไหร่ ที่สมควรจะยื่น ให้ทางสภาวิศวกร พิจารณา ว่าสมควรแล้วนะ

A. จากประสบการณ์ และการพูดคุยกับทางคณะกรรมการนะครับ ผลงาน หรือ ปริมาณงานที่เหมาะสม ไม่มีความตายตัว คือยืดหยุ่นได้ครับ แต่ไม่ใช่ว่าน้อยเกินไป/หรือ มากเกินไป

          เช่น ปีที่1 ท่านมีผลงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม 3 ผลงาน ปีที่2 มี 5 ผลงาน ปีที่3 มี10 ผลงาน รวมแล้ว 3 ปี ท่านจะยื่น ที่ 15 ผลงาน/ หรือ 15 โปรเจค ซึ่งหากใน 15 โปรเจค.....มีรายละเอียด หรือ
subset ย่อย ออกมาในแต่ละงาน แต่ละโปรเจค เช่น(ยกตัวอย่างนะครับ) โปรเจค ห้าง Big-C ท่านสามารถมี subset ย่อย เป็ร ระบบทำความเย็นในส่วนA ส่วนฺB ส่วนC ระบบน้ำ ระบบดับเพลิง ส่วนA ส่วนB ส่วนC ระบบลิฟท์ขนส่ง/ลิฟท์ ลิฟท์ขนของ แบบนี้ ท่านต้องแจกแจง รายละเอียดออกมาให้คณะกรรมการทราบ ถึงรายละเอียดด้วย ว่ามันเข้าข่ายวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตรงไหน เป็นต้นนะครับ หรือ

          ท่านไปอยู่โรงกลั่น/ โรงไฟฟ้า ซัก 3 ปี ท่านสร้างถังน้ำมัน/storage tank ท่านก็ต้องระบุให้ทางคณะกรรมการทราบว่า ถังที่ท่านสร้างเนี่ย ท่านสร้างกี่ใบ แต่ละใบมันต่างกันตรงไหน ท่านออกแบบตาม code ตามมาตรฐานอะไร ถังใบนี้ ท่านอาจมี subset ย่อยเป็น ระบบท่อ/ piping/ ระบบปั้ม วาลว์ สร้างเสร็จแล้วมีการตรวจสอบอย่างไร ทดสอบก่อนใช้งานอย่างไร ตรงนี้เราก็สามารถที่จะระบุลงไปได้ครับ ซึ่งตรงนี้จะเห็นได้ว่า เกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรมควบคุมโดยตรงเลยนะครับ

          ตรงนี้...ในส่วนของการยื่นผลงานนี่สำคัญนะครับ อย่าใจร้อนเกินไป เป็นสิ่งที่ดีที่สุด เช่น พอได้ครบ 3ปีปุ๊บ ยื่นปั้บเลยแบบนี้ก็มีสิทธิที่ทางกรรมการพิจารณาผลงาน เล็งเห็นว่า หากผลงานไม่เข้าข่าย ไม่เข้าตากรรมการจริงๆ คือ งานไม่เชิงวิศวกรรมควบคุมจริงๆ ท่านมีสิทธิผลงานไม่ผ่านนะครับ ทีนี้พอผลงานไม่ผ่าน ท่านต้องรออีก 1 ปีเต็มๆ เพื่อที่จะยื่นผลงานครั้งต่อไปนะครับ



Picture
Q.ยื่นผลงานผ่าน แล้วทำอย่างไรต่อไป

A. อ่านหนังสือสอบครับ คำตอบเดียวเลย ส่วนในเรื่องของการสอบนั้นมีทั้ง วิชาบังคับ และ วิชาเลือก ในส่วนของวิชาบังคับนั้น เป็นวิชาพื้นฐานที่ท่านจะต้องเอามาใช้อยู่แล้ว คือ มันต้องอยู่ในหัวของวิศวกรอยู่แล้ว ถามมา/ตอบได้ ตอบอย่างมีหลักการและเหตุผล ส่วนในส่วนของวิชาเลือก เลือกวิชาที่ท่านถนัดที่สุด หรือ วิชาที่ท่านทำงานอยู่นั่นล่ะครับดีที่สุด ท่านทำงานออกแบบเครื่องจักร แต่ท่านไปเลือกลงวิชา แอร์/เครื่องทำความเย็น แบบนี้ก็อาจจะหนักหน่อย ว่าอย่างนั้น หรือ ท่านทำงานเกี่ยวกับระบบแอร์/ทำความเย็น แต่ท่านไปลงวิชา Boiler/Pressure vessel แบบนี้ก็หนักเหมือนกันครับ คำแนะนำคือ ท่านทำงานสายไหน ให้สอบสายนั้นครับ

ส่วนเกณฑ์การพิจารณาในส่วนของการสอบข้อเขียนนั้น บางท่านบอกยาก บางท่านบอกง่าย ก็สุดแล้วแต่ครับ....แต่หลักเกณฑ์ที่ทางสภาวิศวกรท่านกำหนดขึ้นมาคือ 60คะแนน จาก 100คะแนน ท่านสอบผ่าน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ก็ตรงๆตัวเลย คือ 60% ผ่านนะครับ.....ซึ่งทางสภาวิศวกร เค้ากำหนดมาว่า คนที่ผ่านนั้นต้องได้ 85คะแนน จาก100คะแนน ถึงจะผ่าน ผมก็ไม่เถียงเลยครับ ว่ายากจริงๆ แต่นี่ 60 จาก 100 นะครับ เกินครึ่งมา 10 คะแนน พิจารณาดูครับ

Q. สอบสัมภาษณ์ กรรมการถามอะไร

A. หากท่านมาถึงจุดนี้แล้ว สอบข้อเขียนผ่านแล้ว ขอแสดงความยินดีกับว่าที่ สามัญวิศวกร คนใหม่ครับ แต่.....ต้องผ่านการสอบสัมภาษณ์ก่อนครับ อย่าเพิ่งดีใจ เพราะเคยมีท่านที่สอบสัมภาษณ์ไม่ผ่านนะครับ (ผมไม่ทราบด้วยเหตุผลอะไร) ส่วนการเตรียมตัวสอบสัมภาษณ์นั้น ทางกรรมการที่ถามท่านจะมีผลงานที่ท่านยื่นนั้นล่ะครับ สอบถามท่านเอง กรรมการจะเปิดดูผลงานที่ท่านทำมา แล้วอาจจะให้ท่านอธิบายในเชิงหลักการทางวิศวกรรม ว่าท่านได้ใช้หลักการในเชิงวิศวกรรมอะไร ในงานนั้นๆ เป็นต้นครับ ส่วนเรื่องอื่น ก็ แล้วแต่ทางกรรมการครับ จะเห็นว่า ผลงานที่ท่านยื่นนั้น สำคัญนะครับ ตั้งแต่เริ่มต้นเลย



สรุประยะเวลา คร่าวๆ นับจากยื่นผลงาน


ยื่นผลงานà(คณะกรรมการพิจารณาผลงาน ประมาณ 2 เดือน)

ผลงานผ่าน à (ยื่นเรื่อง เพื่อทำการสอบ ข้อเขียน à 1ปี เปิดสอบ สามัญ 3 ครั้ง เฉลี่ยรอที่ 3 เดือน)

ประกาศผลสอบข้อเขียน à(หลังการสอบข้อเขียน 1 เดือนโดยประมาณ)

สอบสัมภาษณ์ à (หลังประกาศสอบข้อเขียน 1 เดือนโดยประมาณ)

ประกาศผลสอบสัมภาษณ์ à (หลังสัมภาษณ์ 1 เดือน โดยประมาณ)

ใบอนุญาต สามัญวิศวกร ออกให้ à (หลังสัมภาษณ์ 2 เดือนโดยประมาณ)

 

          โดยเฉลี่ย อยู่ที่ 9-10 เดือนครับ อย่างไวที่สุด นับตั้งแต่ ท่านได้ยื่นผลงานประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม เพื่อขอยื่นเลื่อนระดับ ไม่มีเร็วไปกว่านี้แล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้น ผลงานที่ท่านยื่นต้องผ่านภายในครั้งเดียวนะครับ อีกทั้ง...สอบข้อเขียน(ทั้งวิชาบังคับ/ วิชาเลือก สอบผ่านภายใน 1 ครั้งนะครับ) หากสอบไม่ผ่าน ท่านสามารถสะสมวิชาที่สอบไม่ผ่านได้ในครั้งต่อไป แต่ทางสภาวิศวกร กำหนดว่า ไม่เกิน 6 ครั้ง หรือในรอบ 2 ปี ซึ่งหากเกินนี้แล้วนั้น ท่านต้องยื่นผลงานเข้าไปใหม่ รอกันใหม่ หรือ เรียกว่า นับหนึ่งกันใหม่ครับ

          ข้อสงสัยอื่นๆ สามารถสอบถามได้ครับ ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการยื่นเลื่อนระดับครับ
 
82 Comments

    Author

    KAKA

    Archives

    March 2012
    August 2011
    January 2011
    December 2010
    August 2010
    July 2010
    June 2010
    May 2010

    Categories

    All
    ศัพท์ ภาษาอังกฤษ วิชาชีพ วิศวกรรมควบคุม
    งานบริการ วิเคราะห์การเผาไหม้
    การเลื่อนระดับ วิศวกร
    การเลือกวิธีการตรวจสอบแบบไม่ทำลาย
    Asme U Stamp
    Engineering Society
    Hydrostatic Test
    ศัพท์ Welding ผู้รับเหมา แปลกๆ
    Welding Code นั้นสำคัญไฉน
    Welding Society

    RSS Feed

Powered by Create your own unique website with customizable templates.